• เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 13 มกราคม 2563 19:05

      การมีรูรั่วของผนังกั้นหัวใจห้องล่างระหว่างซ้ายและขวา มีรูทะลุติดต่อกัน ทำให้เลือดจากห้องล่างซ้ายลัดผ่านเข้ามายังห้องล่างขวา และผ่านไปยังปอดมากขึ้น เลือดจึงเข้าสู่หัวใจซีกซ้ายเพิ่มขึ้นมีผลทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายต้องรับภาระมากกว่าปกติ  โดยทั่วไปรูรั่วขนาดเล็กอาจปิดเองได้เมื่อร่างกายโตขึ้น โดยไม่มีอาการแสดง แต่ถ้ามีเลือดลัดวงจรจากห้องล่างซ้ายมาห้องล่างขวามาก มักพบว่ามีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อย เด็กเจริญเติบโตไม่สมวัย เหนื่อยง่าย และเกิดภาวะการติดเชื้อเยื่อบุภายในหัวใจได้ง่าย

 

อาการรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่างเป็นอย่างไร

  • รูรั่วขนาดเล็ก มักพบว่ามีการเจริญเติบโตอย่างเด็กทั่วไป ส่วนมากไม่มีอาการ จะทราบโดยการตรวจร่างกายทั่วไป หรือตรวจพบโดยบังเอิญเท่านั้น
  • รูรั่วขนาดกลาง ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย  ตัวเล็กและมักมีการติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย
  • รูรั่วขนาดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการมากตั้งแต่แรกเกิด คือ หายใจเร็วและแรง ดูดนมลำบาก รับประทานได้น้อย เมื่ออายุประมาณ 1 - 2 เดือน มักมีการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจบ่อย เช่น เป็นหวัด ปอดบวม ซีด เหงื่อออกบริเวณศีรษะและลำตัวเสมอ แม้ว่าอากาศจะเย็นก็ตาม น้ำหนักตัวขึ้นช้า เลี้ยงไม่โต และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจวายและปอดอักเสบต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

 

การรักษารูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง

  1. การรักษาทางยา
  2. การรักษาโดยการผ่าตัด

 

การผ่าตัดปิดรูรั่วผนังกั้นหัวใจห้องล่าง

  • เป็นการผ่าตัดเปิดหัวใจ ซึ่งมีการใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมในการผ่าตัด
  • การผ่าตัดปิดรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่างจะใช้วัสดุในการปิดรูรั่ว ได้แก่ แผ่นที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ เยื่อหุ้มหัวใจของวัวหรือเยื่อหุ้มหัวใจของผู้ป่วยเอง
  • การผ่าตัดหัวใจ จะผ่าตัดโดยตัดผ่านกระดูกหน้าอกเข้าไป แผลยาวประมาณ 1 คืบ ระยะเวลาในการผ่าตัด ประมาณ 2– 3 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับความดูแลจากทีมแพทย์ วิสัญญี และพยาบาลเป็นอย่างดี

 

เตรียมตัวอย่างไรก่อนการผ่าตัด

  • ผู้ป่วยจะได้รับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ สวนอุจจาระ และต้องงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนวันก่อนผ่าตัด
  • เช้าวันผ่าตัด ผู้ป่วยควรทำความสะอาดร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ และไม่ควรแต่งหน้าและทาแป้งบริเวณลำตัว
  • ถอดเครื่องประดับต่างๆ ฟันปลอม รวมทั้งฝากทรัพย์สินมีค่าไว้ที่ญาติหรือพยาบาลหอผู้ป่วย กรณีเป็นเด็กเล็กให้ผู้ปกครองดูแลตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

ที่ห้องผ่าตัด

  • ผู้ป่วยจะพบเจ้าหน้าที่สวมชุดห้องผ่าตัด สวมหมวก และผ้าปิดปากปิดจมูก
  • อากาศภายในห้องผ่าตัดจะเย็น ผู้ป่วยสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้
  • ผู้ป่วยจะได้รับการวัดความดันโลหิต วัดออกซิเจนในเลือด  ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยในระยะการผ่าตัด

 

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

  • หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่ไอซียู โดยจะคาท่อช่วยหายใจ คาสายสวนปัสสาวะ และท่อระบายเลือดจากทรวงอก
  • ควรพลิกตะแคงตัว เพื่อให้สารคัดหลั่งระบายได้ดี และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดให้กลับสู่สภาพปกติให้เร็วขึ้น
  • หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะรู้สึกเจ็บหน้าอกแบบลึกๆ หน่วงๆ ตื้อๆ ซึ่งบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด

 

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเมื่อกลับบ้าน

  • แผลหลังผ่าตัด 7–14 วัน ถ้าแผลแห้งดี ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ ในระยะที่มีอาการเหนื่อยง่ายควรนั่งเก้าอี้  และไม่อาบน้ำที่ร้อนมากเพราะอาจทำให้รู้สึกใจหวิวและเป็นลมได้  ถ้าแผลยังไม่แห้งสนิทดี ควรทำแผลทุกวันและระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ  หากพบว่ามีอาการเจ็บตึง บวม แดง ร้อน มีน้ำเหลืองหรือหนอง บริเวณขอบแผลควรไปพบแพทย์ รพ. ใกล้บ้าน หรือ รพ. ลำปาง
  • รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยควรเป็นอาหารที่เค็มน้อย รสไม่จัด งดอาหารหมักดอง ชา กาแฟ รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ควรนอนหลับในเวลากลางคืน   วันละ 8–10 ชั่วโมง  หากทำกิจกรรมแล้วรู้สึกเหนื่อย     ควรพักครั้งละ 20-30 นาที
  • ในระยะ 2 สัปดาห์แรก   ผู้ป่วยสามารถทำงานเบาๆ ได้ เช่น เก็บกวาดบ้าน แต่ไม่ควรทำงานที่ต้องออกแรงมากหรือยกของหนัก จนกว่าครบ 6 สัปดาห์หรือเมื่อแพทย์เห็นชอบจึงเริ่มทำงานปกติได้
  • ควรวางแผนการออกกำลังกาย โดยเพิ่มเวลาขึ้นวันละนิด  ไม่หักโหม เช่นการเดิน เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด  หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก  เวียนศีรษะ หน้ามืด จะเป็นลม ใจสั่น หอบเหนื่อย ต้องหยุดพัก และควรแจ้งให้แพทย์ทราบในการนัดครั้งต่อไป
  • ผู้ป่วยสามารถขับรถได้หลังผ่าตัด 6 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ เมื่อทดสอบสุขภาพ โดยการขึ้นลงบันไดได้มากกว่า 3 รอบแล้วไม่รู้สึกเหนื่อย ถ้ารู้สึกเหนื่อยหรือเครียด ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์
  • มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ