• เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 13 มกราคม 2563 19:08

หัวใจเป็นอวัยวะที่ตั้งอยู่ในช่องอก  ระหว่างปอดทั้งสองข้าง ขนาดเท่ากับกำปั้นของผู้เป็นเจ้าของหัวใจแบ่งออกเป็น 4 ห้อง โดยแต่ละห้องจะมีลิ้นหัวใจมีหน้าที่คล้ายประตูปิดเปิด เพื่อควบคุมการไหลเวียนของเลือด ไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ

 

การรักษาโรคลิ้นหัวใจ

          การรักษาโรคลิ้นหัวใจสามารถรักษาโดยการใช้ยา การใช้ลูกโป่ง (Balloon) ขยายลิ้นหัวใจ   และการผ่าตัด

 

ชนิดของการผ่าตัดหัวใจ

  1. การถ่างขยายลิ้นหัวใจ
  2. การซ่อมลิ้นหัวใจอาจใช้ขอบลิ้นหัวใจช่วยในการซ่อม
  3. การเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยใช้ลิ้นหัวใจเทียม ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ ลิ้นหัวใจเทียมที่ทำจากเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต  ซึ่งอยู่ได้นาน 15 – 20 ปี  และลิ้นหัวใจที่ทำจากโลหะ จะอยู่ได้นานกว่าลิ้นหัวใจที่ทำจากเนื้อเยื่อสัตว์ แต่ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดไปตลอดชีวิต

 

 

การผ่าตัดหัวใจ 

         การผ่าตัดผ่านกระดูกกึ่งกลางหน้าอก เข้าไป  แผลยาวประมาณ 1 คืบ ใช้เวลาในการผ่าตัด ประมาณ 3 – 5 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับความดูแลจากทีมแพทย์ วิสัญญี และพยาบาลอย่างใกล้ชิด

 

ทำไมต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

          ลิ้นหัวใจมีหน้าที่ควบคุมทิศทางการไหล ของเลือดให้ผ่านเข้าออกหัวใจ เมื่อเกิดความผิดปกติที่ขัดขวางการไหลเวียนเลือด อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและส่งผลต่อการใช้ชีวิต ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้  หายใจลำบากเมื่อออกแรง นอนราบ และมักมีอาการเวลากลางคืน, ใจสั่น, เจ็บหน้าอก, ไอหรือไอมีเลือดปน, บวมบริเวณอวัยวะส่วนปลาย

 

เตรียมตัวอย่างไรก่อนการผ่าตัด

  1. ผู้ป่วยจะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ สวนอุจจาระ และต้องงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนวันก่อนผ่าตัด
  2. เช้าวันผ่าตัด       ผู้ป่วยควรทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่   ไม่ควรทาลิปสติกทาสีเล็บและทาแป้งบริเวณลำตัว
  3. ถอดเครื่องประดับต่าง ๆ ฟันปลอม รวมทั้งฝากทรัพย์สินมีค่า ไว้ที่ญาติหรือพยาบาลหอผู้ป่วย

 

ที่ห้องผ่าตัด

  1. ผู้ป่วยจะพบเจ้าหน้าที่สวมชุดห้องผ่าตัด สวมหมวก และผ้าปิดปากปิดจมูก
  2. อากาศภายในห้องผ่าตัดจะเย็น ผู้ป่วยสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้
  3. เพื่อความปลอดภัยในระยะการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการวัดความดันโลหิต  วัดออกซิเจนในเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

  

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด      

        หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะคาท่อช่วยหายใจ คาสายสวนปัสสาวะ และท่อระบายเลือด น้ำล้างจากการผ่าตัดที่ชายโครงขวา  และดูแลต่อเนื่องที่ไอซียู

  1. ควรพลิกตะแคงตัว เพื่อให้สารคัดหลั่งระบายได้ดี และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดให้กลับสู่สภาพปกติให้เร็วขึ้น
  2.    หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะรู้สึกเจ็บหน้าอกแบบลึกๆ หน่วงๆ ตื้อๆ ซึ่งบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเมื่อกลับบ้าน

  • แผลหลังผ่าตัด 7 – 14 วัน ถ้าแผลแห้งดี ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้  ในระยะที่มีอาการเหนื่อยง่ายควรนั่งเก้าอี้และไม่อาบน้ำที่ร้อนมากเพราะอาจทำให้รู้สึกใจหวิวและเป็นลมได้  ถ้าแผลยังไม่แห้งสนิทดี  ควรทำแผลทุกวัน และระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ  หากพบว่ามีอาการเจ็บตึง บวม แดง ร้อน มีน้ำเหลืองหรือหนองบริเวณขอบแผลควรไปพบแพทย์ รพ. ใกล้บ้าน หรือ รพ. ลำปาง
  • รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยควรเป็นอาหารที่เค็มน้อย รสไม่จัด    งดอาหารหมักดอง ชา กาแฟ รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ควรนอนหลับในเวลากลางคืนวันละ 8 – 10 ชั่วโมง หากทำกิจกรรมแล้วรู้สึกเหนื่อยควรพัก ครั้งละ 20 -30 นาที
  • ในระยะ 2 สัปดาห์แรก ผู้ป่วยสามารถทำงานเบา ๆ ได้ เช่น เก็บกวาดบ้าน แต่ไม่ควรทำงานที่ต้องออกแรงมากยกของหนักหรือขับรถ จนกว่าครบ 6 สัปดาห์  หรือเมื่อแพทย์อนุญาต  จึงเริ่มทำงานปกติได้
  • ควรวางแผนการออกกำลังกาย โดยเพิ่มเวลาขึ้นวันละนิด ไม่หักโหม เช่นการเดิน เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด  หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก  เวียนศีรษะ หน้ามืด     จะเป็นลม ใจสั่น หอบเหนื่อย ต้องหยุดพัก    และควรแจ้งให้แพทย์ทราบในการนัดครั้งต่อไป
  • ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ เมื่อทดสอบสุขภาพ โดยการขึ้นลงบันไดได้มากกว่า 3 รอบแล้วไม่รู้สึกเหนื่อย ถ้ารู้สึกเหนื่อยหรือเครียด ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์

มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ