- เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 13 มกราคม 2563 19:14
หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง (Abdominal Aorta Aneurysm)
เป็นความผิดปกติเฉพาะจุดของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง ที่มีขนาดโตกว่าปกติ 1.5 เท่าอย่างถาวร โดยปกติหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องจะมีขนาดประมาณ 2 cm. ซึ่งถ้าตรวจพบว่าหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องมีขนาดใหญ่กว่าหรือเท่ากับ 3 cm. ก็สงสัยได้ว่าเป็นหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง มักพบได้มากในคนอายุ 50 ปี ขึ้นไป พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและในกลุ่มญาติที่มีประวัติสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง
สาเหตุ
- จากการพอกของแผ่นไขมันบริเวณผนังหลอดเลือดแดง
- มีการติดเชื้อภายในหลอดเลือดแดง ทำให้มีการทำลายผนังหลอดเลือดบางส่วนจนเป็นรูทะลุ และขยายใหญ่ขึ้น
- การบาดเจ็บของหลอดเลือดแดง ทำให้ผนังของหลอดเลือดฉีกขาด มีรูทะลุทำให้เกิดลิ่มเลือดมาอุดและมีเนื้อเยื่อพังผืดมาปกคลุม ซึ่งผนังส่วนนี้จะไม่แข็งแรง เมื่อมีแรงดันของเลือดผ่านมาเรื่อยๆก็จะขยาย และโป่งพองขึ้น
การตรวจรักษา
ต้องมีการตรวจพิเศษเพื่อการวินิจฉัย 3 อย่างคือ
- การถ่ายภาพหลอดเลือดแดงด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CTA) เป็นการตรวจสอบสภาพของหลอดเลือดแดงโดยฉีดสารทึบรังสีแล้วเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ดูพยาธิสภาพของหลอดเลือดใหญ่ในช่องท้อง ปัจจุบันการตรวจพิเศษนี้เป็นการตรวจที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
- การฉีดสี เพื่อดูลักษณะของหลอดเลือดแดงต่างๆ ปัจจุบันไม่จำเป็น
- ทำ MRI กรณีต้องการหลีกเลี่ยงสารทึบรังสี
การรักษา
การรักษาทำได้โดยการผ่าตัด ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 วิธี คือ
- การเปิดแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง โดยใช้คีมหนีบหลอดเลือดแดงใหญ่ขณะผ่าตัด เพื่อใส่เส้นเลือดเทียมในส่วนของหลอดเลือดแดงที่โป่งพอง
- การสอดใส่เลือดเทียมผ่านทางสายสวน เรียกว่า EVAR (Endovascular Aneurysm Repair)
การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน (EVAR)
เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม เนื่องจาก
- แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก และปวดแผลน้อยกว่าการเปิดแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง
- หลีกเลี่ยงการใช้คีมหนีบหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งจะทำให้ความดันเลือดแกว่ง เกิดภาวะบีบคั้นหัวใจ
- เสียเลือดน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน
ผู้ป่วยต้องมีการเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด ที่สำคัญ คือ
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- ทำความสะอาดร่างกายทั่วไปโดยเฉพาะบริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง
- ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการดมยาสลบ
- หลังผ่าตัด จะมีแผลประมาณ 3-4 บริเวณขาหนีบ 2 ข้าง
คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน
- การพักฟื้นใช้เวลา 2-3 สัปดาห์
- การอาบน้ำควรอาบ เมื่อแผลที่ขาหนีบแห้งดีแล้ว
- การรับประทานอาหารควรเลี่ยงอาหารเค็ม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงส่วนอื่นโป่งพองได้
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งให้เคร่งครัด
มาตรวจตามแพทย์นัดทุดครั้งอย่างเคร่งครัด