- เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 13 มกราคม 2563 19:56
ท่อน้ำตาอุดตัน เป็นภาวะที่น้ำตาหลั่งออกมาแล้วไม่สามารถระบายออกได้ตามปกติ ทำให้มีน้ำตาเอ่อล้นในตา ตาแฉะ พบมากในทารก และคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
สาเหตุ
- มีความผิดปกติของเปลือกตา เช่น เปลือกตาแบะออก หรือม้วนเข้า
- การอุดตันของระบบทางเดินน้ำตา
- รูท่อน้ำตาตีบ หรือไม่เจริญ (punctal stenosis)
- ท่อน้ำตาอุดตัน/ตีบ (canaliculi obstruction or stenosis)
- ทางเดินน้ำตาอุดตัน (Nasolacrimal obstruction)
อาการ
- มีน้ำตามากกว่าปกติ น้ำตาเอ่อล้นตลอดเวลา
- มีขี้ตาสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนม หรือเหลืองคล้ายหนอง
- อาจมีหัวตาบวมแดงจากภาวะถุงน้ำตาอักเสบ ซึ่งอาจเป็นชนิดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง
การรักษา
- ใช้ยาหยอดตากลุ่มยาปฏิชีวนะหยอดตา วันละ 4 ครั้ง
- นวดบริเวณหัวตา (Hydrostatic massage) โดยใช้นิ้วกดบริเวณหัวตา ตรงตำแหน่งถุงน้ำตา ใช้แรงกดเพื่อทำให้ปลายท่อเปิดออกในเด็กที่เป็นตั้งแต่กำเนิด
- แยงท่อน้ำตา/ล้างท่อน้ำตา ในเด็กเล็กแรกคลอด ถึง 6 เดือน โดยที่ใช้วิธีการนวดแล้วไม่ได้ผล หลัง 6 เดือนแล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีการแยงท่อน้ำตา
- การผ่าตัด ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- แบบเปิด จะมีแผลที่ผิวหนังขนาด 1.5 cms. บริเวณหนังตา ต้องตัดไหม อาจทำโดยวิธีฉีดยาชาหรือวิธีดมยาสลบ
- แบบผ่านทางรูจมูก (FENDCR : Fiberoptic- guied Endo Nasal Dacryo Cysto rhinostomy) มักใช้วิธีดมยาสลบ ใช้สาย Fiberoptic-guide หาตำแหน่งผ่าตัด และใส่ท่อซิลิโคนทิ้งไว้นาน 6 อาทิตย์ ถึง 6 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะท่อน้ำตาอุดตันซ้ำ
5. การใช้เลเซอร์ยิง เพื่อสร้างรูเชื่อมระหว่างถุงน้ำตากับจมูก แทนการเจาะจมูก ซึ่งในบ้านเรายังไม่เป็นที่นิยม และมีราคาสูง
-
-
การปฏิบัติตัว
กรณีที่รักษาโดยใช้ยา
- รับประทานอาหาร หรือทำงานได้ตามปกติ
- หยอดยาตามการรักษาของแพทย์ ร่วมกับการนวดหัวตาข้างที่เป็นโรคบ่อยๆ
- มาตรวจตามแพทย์นัด
กรณีที่รักษาโดยการผ่าตัด
- ห้าม แคะ แกะ เกา หรือตัดท่อซิลิโคนที่เย็บติดกับด้านข้างของรูจมูกออก เพราะจะทำให้การรักษาของแพทย์ไม่ได้ผล
- รักษาความสะอาดของจมูก ไม่ควรไอหรือจามแรงๆ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกหลังผ่าตัดได้
- รับประทานยาตามการรักษาของแพทย์ให้ครบ
- ถ้ามีภาวะตาบวม แดง ปวด หรือเป็นไข้สูง ให้มาพบแพทย์ก่อนนัด
- มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง