- เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 13 มกราคม 2563 20:34
การตั้งครรภ์นอกมดลูก
หมายถึงภาวะที่ตัวอ่อนที่มีปฏิสนธิแล้วไปเจริญเติบโตที่อื่น นอกจากในโพรงมดลูก ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นที่ท่อนำไข่ มีส่วนน้อยเกิดขึ้นที่อื่นๆ เช่น ที่รังไข่ ที่ปากมดลูกและในช่องท้องเป็นต้น
อันตรายที่เกิดจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก
คืออวัยวะที่ตัวอ่อนไปฝังอยู่จะแตกและมีเลือดออกในช่องท้องทำให้เกิดการเสียเลือกมากและเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการและอาการแสดง
อาการเริ่มแรกของการตั้งครรภ์นอกมดลูกมักไม่ค่อยชัดเจน แต่มักมีประวัติขาดประจำเดือนมาก่อน แล้วมีอาการปวดท้อง มีเลือดออกทางช่องคลอด อาการปวดเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ร้าวไปหัวไหล่ อาการมักรุนแรงที่ข้างใดข้างหนึ่งของช่องท้องมากกว่าอีกข้าง มีอาการอ่อนเพลี ถ้าเป็นมาก ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น เป็นลมเวลายืน ซีดเพราะการเสียเลือดเข้าไปในท้อง
การวินิจฉัย
จากการซักประวัติ และการตรวจร่างกายตรวจคลำได้ก้อน มีอาการเจ็บในท้องน้อย การตรวจเลือดหาฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ (bHCG) การทำ
อัลตราซาวด์ การขูดมดลูก และการผ่าตัดส่องกล้องตรวจในช่องท้อง
การรักษา
ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้วิธีผ่าตัดในการรักษา มี 2 วิธี คือ
1. การผ่าตัดเปิดช่องท้อง เป็นการเปิดแผลใหญ่ที่หน้าท้อง เพื่อเอาส่วนที่ท้องนอกมดลูกออกและหยุดเลือด
2. การผ่าตัดส่องกล้อง เป็นวิธีที่นิยมมากกว่าเพราะแผลเล็ก หายเร็ว ปลอดภัย ภาวะแทรกซ้อนน้อย การรักษาอาจเป็นเพียงเอาส่วนของครรภ์นอกมดลูกออกเพียงปลายท่อ หรือผ่าท่อแล้วเอาส่วนของครรภ์นอกมดลูกออก หรือตัดท่อนำไข่ข้างนั้นเลย ขึ้นอยู่กับว่าเป็นน้อยหรือมากตามลำดับ
ในปัจจุบันเราสามารถวินิจฉัยตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ ก่อนจะมีอาการแทรกซ้อน ทำให้สามารถให้ยาเข้าไปทำลายตัวอ่อน และรกอ่อน ๆ ได้ ยานี้จะไปทำลายเฃลล์ตัวอ่อนให้สลาย วิธีนี้ได้ผลดี ปลอดภัย แต่ต้องวินิจฉัยได้เร็วและต้องติดตามดูแล จนแน่ใจว่าหายแล้ว
การผ่าตัดผ่านกล้อง
การผ่าตัดผ่านกล้องเป็นการผ่าตัดที่กระทบกระเทือนต่ออวัยวะภายในน้อย และแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็ว นอนโรงพยาบาลไม่นาน และมีความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดน้อย สามารถกลับไปทำงานและทำกิจวัตรประจำวันตามปกติได้เร็วกว่า การผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบดั้งเดิม
การปฏิบัติตนก่อนการรับการผ่าตัด
ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเลือดเพื่อเตรียมความพร้อมของร่างการ ทำความสะอาดร่างกาย งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนการผ่าตัด
ขั้นตอนการผ่าตัด
หลังจากผู้ป่วยดมยาสลบแล้ว แพทย์จะผ่าตัดเจาะผนังหน้าท้องผู้ป่วย แผลขนาดไม่เกิน 1 ซม. 3 แผล คือบริเวณใต้สะดือ และท้องน้อยด้านล่าง ซ้าย ขวา จากนั้นแพทย์จึงสอดกล้องและเครื่องมือเพื่อทำการผ่าตัดต่อไป
ผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
ผลแทรกซ้อนเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจพบ คือ มีอาการปวดหัวไหล่หน่วง ๆ คล้ายปวดเมื่อย เนื่องจากลมในช่องท้องไปดันกะบังลม อาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดและจะหายกลับเป็นปกติ ภายใน 1 วันหลังผ่าตัดเป็นวัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาทำงานปกติได้ ภายใน 72 ชั่วโมง
อาการที่ควรสังเกต คืออาการปวดท้อง โดยเฉพาะถ้ามีอาการหน้ามืดใจสั่นท้องโป่งตึง ร่วมด้วยควรรีบบอกเจ้าหน้าที่ เพราะอาจมีอาการเลือดออกจากตำแหน่งผ่าตัดในช่องท้อง
การปฏิบัติตนหลังผ่าตัด
หลังการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช อาการต่าง ๆ จะดีขึ้นประมาณ 3 - 7 วันหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด
1. อาการปวดจะมากที่สุดในวันแรกหลังผ่าตัด จากนั้นจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แผลผ่าตัดควรแข็งแรงและเกือบเป็นปกติภายในสัปดาห์แรก หลังผ่าตัดผู้ป่วยไม่ควรยกของหนักในเดือนแรก และมาตรวจตามนัดประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด
2. เมื่อแพทย์อนุญาต ให้รับประทานอาหารได้ ให้ดื่มน้ำมาก ๆ และไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
3. การทำงานของลำไส้จะกลับเป็นปกติได้อาจใช้เวลาหลายวัน จึงควรลุกเดินบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องอืด และมีพังผืดในช่องท้อง
4. เมื่อมีปัญหาหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นให้ปรึกษาแพทย์หรือพยาบาล
5. มาตรวจร่างกายและตรวจภายในหลังการผ่าตัดตามวันและเวลาที่แพทย์นัด