• เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 13 มกราคม 2563 20:35

มะเร็งรังไข่

        มะเร็งรังไข่ มักพบว่าเกิดจากเซลล์กำเนิดของรังไข่  ซึ่งมีหลายชนิด  และพบว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งรังไข่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก 

 

สาเหตุการเกิดโรค

  1. โรคนี้พบมากในกลุ่มอายุระหว่าง 40 - 60 ปี
  2. มีโอกาสเกิดสูง  ในกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมสูง
  3. การได้รับสารระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องท้อง ได้แก่  แอสเบสทอส  และแป้งฝุ่น 
  4. กลุ่มเสี่ยงคือสตรีที่มีบุตรน้อยหรือมีบุตรยาก การเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาอาจป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ได้ การได้รับยาคุมกำเนิด หรือยากดการตกไข่ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้
  5. มีความผิดปกติของการทำงานของรังไข่
  6. มีอาการของระบบทางเดินอาหารบ่อยๆ เช่น ระบบย่อยผิดปกติ ท้องอืด  ท้องเฟ้อ  ท้องโต
  7. ปัจจัยทางพันธุกรรม
  8. การบริโภคอาหารประเภทไขมันสัตว์ หรือเนื้อสัตว์

 

อาการและอาการแสดง

  1. คลำพบก้อนและก้อนเนื้องอกที่โตขึ้นจะกดเบียดอวัยวะใกล้เคียง ทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก ความรู้สึกไม่สบายในท้อง
  2. ท้องโตขึ้นจากก้อนที่โตขึ้น บางรายท้องโตเนื่องจากมีน้ำในช่องท้อง
  3. อาการเลือดออกผิดปกติอาจพบได้บ่อย เช่น ประจำเดือนไม่มา ประจำเดือนมามาก มีเลือดออกกระปริดกระปรอย
  4. อาการอื่น ๆ เช่น เป็นสาวก่อนวัย เสียงแหบห้าว
  5. รายที่มีการแพร่กระจาย ไปที่ช่องท้อง หรือที่อื่นๆ อาจเกิดอาการของทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด  คลื่นไส้ อาเจียน แน่น อึดอัดท้อง จากมีน้ำในช่องท้อง  หายใจลำบากจากมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด 
  6. อาการทั่ว ๆ ไป ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง มีไข้

 

การวินิจฉัย

    มะเร็งรังไข่สามารถวินิจฉัยได้จาก

  1. อาการและอาการแสดง
  2. การตรวจภายใน
  3. การตรวจทางเซลล์วิทยา (ในบางราย)
  4. กรณีตรวจภายในไม่ชัดเจน จะทำ Ultrasonography หรือ computer tomography เพื่อช่วยในการวินิจฉัย
  5. การตรวจอื่นๆ ทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การตรวจหา  HCG, Alpha fetoprotein  ในกลุ่ม  Germ cell tumor

 

การรักษาผู้ป่วยมะเร็งรังไข่

  1. การผ่าตัดมะเร็งรังไข่ แพทย์จะผ่าตัดเปิดทางหน้าท้อง เอามดลูก รังไข่และต่อมน้ำเหลือง (บางราย) ออก โดยใช้เวลา 2- 4 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะได้รับการดมยาก่อนการผ่าตัด ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะผ่าตัด 
  2. การใช้รังสีรักษา ต้องพิจารณาถึงชนิดของมะเร็งที่จะตอบสนองต่อการรักษา ระยะของโรค การลุกลามของโรค และมะเร็งที่ยังเหลือค้างอยู่จากการผ่าตัด
  3. การใช้เคมีบำบัด มักจะให้ภายหลังการทำผ่าตัด ปัจจุบันได้ผลดี     โดยเฉพาะในกลุ่มมะเร็งรังไข่ระยะแรก และยังสามารถยืดอายุของผู้ป่วยในระยะที่ลุกลามไปมากแล้วได้ด้วย

 

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

      การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดที่ถูกต้อง  จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน   ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผ่าตัด     

  1. การทำความสะอาดร่างกาย การงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน การสวนอุจจาระและการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ ก่อนการผ่าตัด
  2. ถ้ารับประทานยาห้ามการแข็งตัวของเลือด ต้องแจ้งแพทย์ พยาบาลก่อนผ่าตัดและงดยาก่อนผ่าตัด 7-10 วัน

 

การปฎิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน

    - ควรรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว นม ผักและผลไม้   ไม่ควรรับประทานอาหารรสจัด  ของหมักดอง เหล้า บุหรี่

   -  หลังผ่าตัดต้องพักผ่อนอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์

   -  รักษาความสะอาดของอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกทุกครั้ง และหลังการขับถ่าย

   - รับประทานยาต่อตามแผนการรักษาของแพทย์

   - ดูแลความสะอาดของแผลผ่าตัดและตัดไหม เมื่อครบ7 วัน

   - งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 4-6 สัปดาห์

   - มาตรวจหลังผ่าตัดตามนัด

   - งดทำงานหนักเช่น หาบน้ำอย่างน้อย 4 สัปดาห์

   - ออกกำลังกาย เช่นเดิน ทำงานเบาๆ

   - สังเกตอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง

   - ปวดท้องน้อย มีเลือดมากทางช่องคลอดมาก มีเลือดปนหนอง ให้รีบมาโรงพยาบาล