- เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 13 มกราคม 2563 20:37
กะโหลกศีรษะมนุษย์ เป็นโครงสร้างของกระดูกที่ประกอบขึ้น เป็นโครงร่างที่สำคัญศีรษะของมนุษย์ กะโหลกศีรษะทำหน้าที่ปกป้องสมอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบประสาท รวมทั้งเป็นโครงร่างที่ค้ำจุนอวัยวะรับสัมผัสต่างๆ ทั้งตา หู จมูก และลิ้น และยังทำหน้าที่เป็น ทางเข้าของทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ เมื่อแรกเกิดกะโหลกศีรษะ จะประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้นซึ่งเมื่อเจริญเติบโตขึ้นกระดูกเหล่านี้จะเกิดการสร้างเนื้อกระดูกและเชื่อมรวมกัน แม้ว่ากะโหลกศีรษะ จะเป็นโครงสร้างที่มีความแข็งแรงก็ตาม การกระทบกระเทือนที่ศีรษะอย่างแรง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตและพิการได้ ทั้งจากการบาดเจ็บจากเนื้อสมองโดยตรง การตกเลือดในสมอง และการติดเชื้อ
สาเหตุ
ผู้ป่วยสูญเสียกะโหลกศีรษะบางส่วน อาจเป็นผลจากที่ผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุจากจราจร ตกจากที่สูง ถูกทำร้ายร่างกาย กีฬาและ
นันทนาการ ถูกยิง หรือแรงกระแทกอื่นๆ
การรักษา
การผ่าตัดปิดกะโหลกศีรษะ ในภายหลัง โดยทั่วไปจะผ่าตัดปิดกะโหลก เมื่อสมองยุบบวม และไม่มีการติดเชื้อที่ระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยระยะเวลาประมาณ 1-6 เดือน หลังผ่าตัดเปิดกะโหลกครั้งแรก เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยใช้กะโหลกศีรษะเทียม(Methylmethracrylate)
การปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัด
- ผู้ป่วยควรได้รับการพักผ่อน อย่างเพียงพอ
- งดน้ำงดอาหารก่อนผ่าตัด 6-8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และอาการสำลักอาหารและน้ำเข้าหลอดลม
- เตรียมความสะอาดร่างกายก่อนผ่าตัด อาบน้ำ สระผมให้สะอาด
- เตรียมบริเวณที่จะทำการผ่าตัดบริเวณศีรษะ โดยการโกนผม
- ถอดฟันปลอม(ถ้ามี) และควรถอดเก็บของมีค่าฝากญาติไว้ก่อนจะไปห้องผ่าตัด
- เซ็นใบยินยอมให้แพทย์ทำการผ่าตัด
- ถ้ารับประทานยาห้ามการแข็งตัวของเลือด ให้หยุดยาก่อนผ่าตัด 5-7 วัน ตามแผนการรักษาของแพทย์
หลังการผ่าตัด
- หลังการผ่าตัดจะมีแผลผ่าตัดบริเวณศีรษะที่ใส่กะโหลกเทียม เย็บแผลด้วยไหมไม่ละลาย
- ผู้ป่วยจะมีสายระบายเลือดหรือสิ่งคัดหลั่งออกจากแผลผ่าตัด
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
- รักษาความสะอาดของแผลผ่าตัดระวังไม่ให้โดนน้ำ
- สังเกตแผลผ่าตัดหากบวมแดงมีเลือดหรือหนองซึม ควรรายงานพยาบาลหรือแพทย์บนหอผู้ป่วย
การให้คำแนะนำเมื่อผู้ป่วยกลับบ้าน
- รักษาความสะอาดแผล ไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ ไม่แกะหรือเกาแผล เพราะอาจจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลได้
- ทำความสะอาดแผลตามแพทย์สั่ง ที่โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน
- สังเกตอาการผิดปกติ ได้แก่ อาการปวดแผล แผลบวมแดง มีหนอง มีไข้ ควรมาพบแพทย์ทันที
- มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ