- เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 13 มกราคม 2563 20:13
สาเหตุ
ผู้ป่วยที่มีการหักของกระดูกต้นขาส่วนปลาย ในผู้สูงอายุมักเกิดจากการลื่นล้ม หรือสะดุดสิ่งกีดขวาง ในผู้ป่วยอายุน้อยมักเกิดจากอุบัติเหตุถูกกระแทกอย่างรุนแรง โลหะที่นิยมใช้ดามกระดูกในตำแหน่งดังกล่าวคือ condylar blade plate
อาการของผู้ป่วย
- เจ็บปวดในบริเวณที่มีการหักของกระดูก เคลื่อนไหวลำบาก
- อาการบวมของต้นขา ขาผิดรูปหรือสั้นกว่าอีกข้างหนึ่ง
- อาจได้ยินเสียงกรอบแกรบของกระดูกที่หัก เมื่อขยับขา
- รายที่มีบาดแผลเปิด จะมีเลือดไหลปนกับไขกระดูกออกมาให้เห็นได้
การรักษา
- การรักษาแบบไม่ผ่าตัด โดยการดึงถ่วงขาด้วยตุ้มน้ำหนักผ่านหมุดที่ยึดกระดูกแข้งเป็นเวลา 8-12 สัปดาห์ จะใช้ในรายที่กระดูกเคลื่อนเล็กน้อย หรือไม่สามารถผ่าตัดได้ แต่มีข้อเสียคือ ข้อเข่าติดยึด และผู้ป่วยต้องนอนพักบนเตียงเป็นระยะเวลานาน
- การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่กระดูกเคลื่อนมาก มีแผลเปิด หรือหลอดเลือดฉีกขาด มีข้อดีคือผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนบนเตียงเป็นระยะเวลานาน ๆ
แผ่นโละดามกระดูกชนิด condylar blade plate ถูกออกแบบมาเพื่อให้ปลายด้านหนึ่งฝังเข้าไปในกระดูกต้นขา ส่วนปลายในแนวนอนจะประกบแนบผิวกระดูกด้านนอกของกระดูกต้นขา และยึดตรึงด้วยสกรู
แผลผ่าตัดจะอยู่ตรงตำแหน่งต้นขาด้านนอกเหนือระดับเข่า ความยาวแผลขึ้นอยู่กับความยาวของกระดูกที่หัก เวลาที่ใช้ในการผ่าตัดขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการผ่าตัด เฉลี่ยประมาณ 1 ชั่วโมง แพทย์จะคาสายระบายเลือดออกมาจากแผล และถอดออกหลังผ่าตัด 1-2 วัน เพื่อระบายเลือดและน้ำเหลืองที่คั่งค้างจากการผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด
- ท่านจะถูกถามเรื่องโรคประจำตัว การใช้ยา การแพ้ยา หากใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน ให้หยุดยาอย่างน้อย 1 สัปดาห์
- ตรวจเลือด ปัสสาวะ ถ่ายภาพรังสีทรวงอก และกระดูกต้นขาบริเวณที่หัก
- หากมีฟันปลอมให้ถอดออกก่อนมาห้องผ่าตัด
- งดน้ำและอาหาร หลังเวลา 24:00 น. คืนก่อนการผ่าตัด
- ใส่สายสวนปัสสาวะก่อนเข้าห้องผ่าตัด
การระงับความรู้สึกขณะผ่าตัดมี 2 วิธี คือ การดมยาสลบ หรือการระงับความรู้สึกผ่านทางช่องกระดูกสันหลัง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของวิสัญญีแพทย์ หากใช้การระงับความรู้สึกผ่านทางช่องกระดูกสันหลัง แพทย์จะฉีดยาผ่านเข้าช่องกระดูกหลังบริเวณส่วนเอว ผู้ป่วยจะชาบริเวณขาทั้งสองข้าง เคลื่อนไหวไม่ได้ จนกว่ายาชาจะหมดฤทธิ์ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังผ่าตัดให้นอนราบประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนของยา
การปฏิบัติหลังการผ่าตัด
- นอนราบ ใช้หมอนสอดใต้ขาข้างที่ผ่าตัด ยกปลายเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดบวม ถ้านอนตะแคง ให้วางขาข้างที่ผ่าตัดบนหมอน ในลักษณะที่งอเข่าเล็กน้อย พยามพลิกตัวอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันแผลกดทับ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่นโปรตีน ผัก ผลไม้ เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และช่วยในการขับถ่าย อาหารที่มีแคลเซียมช่วยเสริมสร้างกระดูก ได้แก่ นม เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย งาดำ เป็นต้น
- หากมีไข้ ให้เช็ดตัวบริเวณข้อพับ ซอกคอ รักแร้ และดื่มน้ำมากๆ
- ห้ามแกะเกาหรือดึงผ้าปิดแผลผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากแผลผ่าตัดมีการเปื้อนหรือสกปรกควรแจ้งพยาบาลที่ดูแล
- ให้บริหารกล้ามเนื้อต้นขา ข้อเข่า ข้อเท้า เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และเตรียมฝึกเดิน
การป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
- ระวังอุบัติเหตุลื้นล้ม อาจทำให้โลหะดามกระดูกหัก หรือเคลื่อนหลุดได้
- หมั่นทำกายบริหารกล้ามเนื้อต้นขา และข้อเท้าตามที่แพทย์กำหนด
- การฝึกเดินหลังผ่าตัด แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเดินโดยไม่ลงน้ำหนักขาข้างที่ผ่าตัดหรือ ให้ลงน้ำหนักได้บางส่วน ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง หรือไม้ค้ำยัน หรือ วอล์กเกอร์ ตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด หากลงน้ำหนักเร็วเกินไป อาจทำให้โลหะดามกระดูกหักได้ หรือหากลงน้ำหนักน้อยเกินไป ก็อาจทำให้กระดูกติดช้าลง
- เมื่อกลับบ้านต้องดูแลแผลผ่าตัดไม่ให้เปียกน้ำ ล้างแผลและตัดไหมตามที่แพทย์กำหนด หากมีอาการปวด บวมแดงร้อนที่แผล หรือมีเลือด หนอง ไหลออกมาจากแผล ให้รีบกลับมาพบแพทย์โดยเร็ว