• เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 13 มกราคม 2563 20:00

นิ่วในถุงน้ำดี    

น้ำดีผลิตจากตับตับเป็นอวัยวะที่มีรูปร่างเหมือนสามเหลี่ยมอยู่ที่บริเวณช่องท้องด้านขวาและมีท่อเชื่อมต่อกับถุงน้ำดีที่อยู่ด้านหลัง เมื่อตับผลิตน้ำดีแล้วจะถูกส่งไปเก็บที่ถุงน้ำดี และเมื่อเรารับประทานอาหารประเภทไขมัน น้ำดีจะถูกขับออกมาจากถุงน้ำดี ไปยังลำไส้เล็กเพื่อทำหน้าที่ย่อยอาหารพวกไขมัน

 

นิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้นได้อย่างไร

นิ่วในถุงน้ำดี (gall stones) เกิดจาการตกผลึกของหินปูน (แคลเซียม) หรือคลอเลสเทอรอลที่มีอยู่ในน้ำดี

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี

พบว่า ความอ้วน โรคเบาหวาน โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก คนที่มีระดับคลอเลสเทอรอลในเลือดสูง ชอบอาหารไขมันสูง ดื่มแอลกอฮอล์ หญิงที่มีบุตร การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วจะมีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนทั่วไป

อาหารที่ช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี

อาหารจำพวกแป้งที่ไม่ขัดสี ผักและผลไม้สด รำข้าวโอ๊ด และถั่ว  ส่วนอาหารที่ควรงดเว้น ได้แก่ อาหารทอด และอาหารมันๆ

นิ่วในถุงน้ำดี มีอาการอย่างไร

ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี อาจไม่มีอาการเลย หรือมีอาการบางอย่าง ดังต่อไปนี้ได้

  1. ปวดเสียดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือ ลิ้นปี่ซึ่งมักเป็นหลังรับประทานอาหารมัน แต่อาการอาจเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง (แต่มักไม่เกิน 8 ชั่วโมง) แล้วค่อยกลับเป็นปกติ อาจร้าวไปสะบักขวาหรือที่หลัง
  2. ถ้าถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงขวามากขึ้น และมีการตรวจพบการกดเจ็บบริเวณนี้ ร่วมกับมีไข้ และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย
  3. มีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด เรอลมบ่อยๆ
  4. อาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง จากนิ่วตกลงไปอุดท่อน้ำดีใหญ่

จะตรวจพบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้อย่างไร

จากอาการแสดงและการตรวจอัลตร้าซาวด์

การรักษา

  1. นิ่วในถุงน้ำดีไม่สามารถรักษาได้โดยใช้เครื่องสลายนิ้ว
  2. ใช้ยาสลายนิ่ว ใช้ได้เฉพาะนิ่วบางชนิดเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต ที่สำคัญยาที่ใช้รักษามีราคาแพง
  3. การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เป็นการรักษาที่ดีที่สุดซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ถาวร เพื่อไม่ให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีขึ้นได้อีกต่อไป และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

ต่าง ๆ การตัดถุงน้ำดีไม่มีผลต่อการย่อยอาหาร เพราะน้ำดีสร้างมาจากตับ ถุงน้ำดีเป็นเพียงที่เก็บพักน้ำดีเท่านั้น

 

การผ่าตัดถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีไม่มีอาการ ส่วนใหญ่ไม่ต้องผ่าตัดเพราะอาจไม่มีอาการเลยตลอดชีวิต ยกเว้นในคนไข้บางกลุ่มที่แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด เช่น อายุน้อย เพราะมีโอกาสเกิดอาการขึ้นมาได้ในอนาคต โรคโลหิตจางบางชนิด ส่วนนิ่วในถุงน้ำดีที่มีอากร หรือมีภาวะแทรกซ้อนแล้ว ควรได้รับการผ่าตัด

 

การผ่าตัดถุงน้ำดีในปัจจุบัน มี 2 ชนิด

  1. การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกโดยเปิดช่องท้อง เป็นการผ่าตัดแบบปกติ (OC : Open Cholecystectomy) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานดั้งเดิม เลือกใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยที่ถุงน้ำดีมีอาการอักเสบมากหรือแตกทะลุในช่องท้อง
  2. การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกโดยใช้กล้องส่องผ่านหน้าท้อง (LC : Laparoscopic Cholecystectomy) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากในปัจจุบัน ถ้าผู้ป่วยไม่มีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน

 

การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก

  โดยการเปิดช่องท้อง

เป็นการผ่าตัดโดยเปิดแผลบริเวณด้านใต้ชายโครงขวา ขนาดแผลประมาณ 3 นิ้ว บางรายอาจใส่ท่อระบายไว้ 2-3 วันหลังผ่าตัด

ผลดีของการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิด

ผ่าตัดได้ทุกระยะของการอักเสบ

ผลเสียของการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิด

เจ็บแผล ต้องอยู่โรงพยาบาลราว 5-7 วัน ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ จึงสามารถกลับไปทำงานได้

 

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

  1. การงดอาหารและน้ำทุกชนิดหลังเที่ยงคืนก่อนวันผ่าตัด เพื่อป้องกันการสำลักอาหารและน้ำเข้าสู่ปอดขณะผ่าตัด
  2. อาบน้ำสระผม ตัดเล็บให้สะอาด ก่อนวันผ่าตัด 1วันหรือเช้าวันผ่าตัด
  3. ทำจิตใจให้สงบสุข ผ่อนคลาย

 

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

  1. หลังผ่าตัดผู้ป่วยควรเคลื่อนไหว พลิกตะแคงตัว ลุกนั่ง และเดิน เพื่อป้องกันท้องอึด และพังผืดในช่องท้อง
  2. ผู้ป่วยควรหายใจเข้าออกลึกๆ และไอออกมาทีเดียวให้เสมหะออกมา
  3. สังเกตแผลผ่าตัด ถ้าพบเลือดซึมมาก แผลบวมแดง ให้แจ้งพยาบาลหอผู้ป่วย

 

อาการผิดปกติที่ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ภายหลังกลับบ้าน

มีไข้ ปวดในช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ ตัวเหลือง ตาเหลือง