- เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 13 มกราคม 2563 20:03
โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย
เป็นโรคเลือดจางที่มีสาเหตุมาจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้มีการสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดผิดปกติ จึงทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ แตกง่าย ถูกทำลายง่าย ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงมีเลือดจาง โรคนี้พบได้ ทั้งหญิงและชายปริมาณเท่าๆกัน ถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่ทางพันธุกรรมพบได้ทั่วโลก และพบมากในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
อาการ
จะมีอาการซีด ตาขาวสีเหลือง ตัวเหลือง ตับโต ม้ามโต ผิวหนังดำคล้ำ กระดูกใบหน้าจะเปลี่ยนรูป มีจมูกแบน กะโหลกศีรษะหนา โหนกแก้มนูนสูง คางและขากรรไกรกว้างใหญ่ ฟันบนยื่น กระดูกบาง เปราะ หักง่าย ร่างกายเจริญเติบโตช้ากว่าคนปกติ แคระแกร็น ท้องป่อง ในประเทศไทยมีผู้เป็นโรคประมาณร้อยละ 1 ของประชากรหรือประมาณ 6 แสนคน
การรักษา
- ให้รับประทานวิตามินโฟลิควันละเม็ด
- ให้เลือดเมื่อผู้ป่วยซีดมากและมีอาการของการขาดเลือด
- ตัดม้ามเมื่อต้องรับเลือดบ่อยๆ และม้ามโตมาก จนมีอาการอึดอัดแน่นท้อง กินอาหารได้น้อย
- ไม่ควรรับประทานยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก
- ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงซีดมาก อาจต้องฉีดยาขับเหล็ก
การรักษาโดยการตัดม้าม เมื่อไรจึงควรตัดม้าม
- เมื่อมีม้ามโตมากจนอึดอัด
- ต้องให้เลือดถี่กว่าเดิมมาก เช่น ทุก 2-3 สัปดาห์ ก็ยังไม่หายซีด
- ต้องมีอายุมากกว่า 4-5 ปี เพราะถ้าตัดม้ามในเด็กเล็กจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าเด็กโต
ผลดีของการตัดม้าม
- หายอึดอัด รู้สึกสบายขึ้น
- อาการซีดมักจะดีขึ้น การให้เลือดลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรคฮีโมโกลบินเอ็กซ์ มักไม่ต้องให้เลือดอีกเลย ในเบต้าธาลัสซีเมียอาการจะดีขึ้น การให้เลือดลดลง
ผลเสียของการตัดม้าม
- จะติดเชื้อโรคบางชนิดได้ง่าย
- อาจมีธาตุเหล็กสะสมมากขึ้น เพราะมีการดูดซึมธาตุเหล็กจากลำไส้เพิ่มขึ้น
- บางรายมีเกร็ดเลือดสูงมากหลังตัดม้ามในระยะแรก
การเตรียมตัวก่อนรับการผ่าตัดม้าม
- ควรพักผ่อนให้เต็มที่
- ผู้ป่วยจะได้รับตรวจเลือด ตรวจคลื่นหัวใจ
- เตรียมเลือด เพื่อใช้ในขณะผ่าตัด
- เตรียมความสะอาดทั่วไปก่อนผ่าตัด 1 วัน และวันผ่าตัดควรอาบน้ำ และเปลี่ยนผ้าด้วยชุดที่สะอาด
- งดน้ำ งดอาหารก่อนผ่าตัด 6-8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและอาการสำลักอาหารและน้ำเข้าหลอดลม
- เก็บของมีค่า เครื่องประดับต่างๆ ก่อนไปห้องผ่าตัด
- เซ็นใบยินยอมอนุญาตให้แพทย์ทำการผ่าตัด
สภาพผู้ป่วยหลังผ่าตัด
- ตำแหน่งของแผล อยู่บริเวณใต้ชายโครงด้านซ้าย
- การเย็บแผลผ่าตัด แพทย์จะเย็บด้วยไหมไม่ละลาย หรือเย็บด้วยลวดเย็บแผล
- ระยะเวลาการหายของแผลผ่าตัด ใช้ระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน จึงนัดมาตัดไหม หรือเอาลวดเย็บแผลออก
การปฏิบัติตัวเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน
- ดูแลแผลผ่าตัดไม่ให้ถูกน้ำ
- สังเกตอาการผิดปกติหาก ปวด บวม แดง หรือมีไข้ ควรมาพบแพทย์ทันที
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
- พบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ
- การปฏิบัติทั่วไป : ต้องมีสุขอนามัยที่ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ และสะอาด
- เกี่ยวกับภาวะเหล็กเกิน ควรตรวจสอบระดับธาตุเหล็ก เพื่อตรวจดูซีรัมเฟอไรตินทุกปี และขอคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับการให้ยาขับธาตุเหล็ก
- เกี่ยวกับภาวะเกร็ดเลือดสูง ในเด็กมักเป็นชั่วคราวในระยะแรก ๆ ภายหลังการตัดม้าม อาจจะทำให้เส้นเลือดถูกอุดตันได้ แพทย์จะให้ยาแอสไพรินในขนาดต่ำชั่วคราว ต้องติดตามตรวจนับเกร็ดเลือดทุกเดือน แพทย์จะหยุดให้ยา แอสไพรินเมื่อจำนวนเกล็ดเลือดลดลง