• เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 13 มกราคม 2563 20:06

ไส้เลื่อน  

     คำว่าไส้เลื่อนหมายถึงภาวะที่ลำไส้ได้เคลื่อนที่ออกจากช่องท้องมาสู่ภายนอก เช่น บริเวณขาหนีบ หรืออาจจะเลื่อนมาในตำแหน่งรอยผ่าตัด

 

ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคไส้เลื่อน

  ผู้ที่มีความดันในช่องท้องสูง เช่น การตั้งครรภ์ ไอเรื้อรัง คนอ้วน ท้องผูก ต่อมลูกหมากโตทำให้ต้องเบ่งเมื่อปัสสาวะ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดไส้เลื่อน

 

อาการ

   อาการที่สำคัญสำหรับไส้เลื่อนทั้งสองชนิด ได้แก่ การที่มีก้อนที่บริเวณขาหนีบ ก้อนนี้จะโตขึ้นเวลายกของหนักหรือไอแรงๆ จะทำให้ก้อนโผล่ออกมา และอาจรู้สึกว่ามีเสียงเคลื่อนไหวของลำไส้เหมือนเวลาเราหิวข้าว เมื่อนอนลง หรือจับก้อนยัดเข้าไปในรู ก้อนจะหายไป

 

โรคแทรกซ้อนของไส้เลื่อน ที่สำคัญได้แก่

  • Incarcerated hernia เป็นภาวะที่ลำไส้เคลื่อนออกมา แล้วไม่สามารถดันกลับเข้าไปในช่องท้อง
  • Strangulated hernia เป็นภาวะที่ลำไส้ในถุงมีการบิดทำให้ลำไส้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยง และเกิดลำไส้เน่าตามมา ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องอย่างมาก แรกๆจะปวดบิดๆ คลื่นไส้อาเจียน เมื่อลำไส้เน่าจะปวดทั่วท้องมากจนต้องนอนนิ่งๆ เมื่อขยับตัวก็จะปวด มีไข้ บางรายอาจจะมีอาการความดันโลหิตต่ำ
  • ลำไส้อุดตัน (Bowel obstruction)  เกิดเมื่ออุจาระไม่สามารถเคลื่อนผ่านลำไส้นี้ไปได้ ผู้ป่วยจะปวดท้องมวนๆ คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด ไม่ผายลม

 

ผู้ที่เป็นไส้เลื่อนเมื่อมีอาการต่อไปนี้ควรมาพบแพทย์

  • ปวดบริเวณไส้เลื่อน
  • ก้อนนั้นไม่สามารถดันกลับเข้าไปในช่องท้อง
  • ปวดท้อง อาเจียน และท้องอืด

 

การวินิจฉัย

     ทำได้ง่าย โดยการซักประวัติ และการตรวจร่างกาย

 

การรักษา

     การรักษาไส้เลื่อนโดยการผ่าตัด     ผู้ป่วยจะได้รับยาระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง หรือบางคนอาจได้รับการดมยาสลบ มี 2 แบบ คือ    

  1. การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิด หรือแบบดั้งเดิม จะมีแผลเหนือหัวเหน่าข้างที่เป็นไส้เลื่อน ขนาด 4-6 cms..
  2. การผ่าตัดไส้เลื่อนโดยใช้กล้อง

     การรักษาไส้เลื่อนทั้งสองชนิดทำได้ โดยการผ่าตัดนำลำไส้กลับเข้าไปในช่องท้อง และเย็บซ่อมรูหรือตำแหน่งที่ ลำไส้ออกมา การผ่าตัดมักจะได้ผลดี

เทคนิกการผ่าตัดเย็บซ่อมรูหรือตำแหน่งที่ลำไส้ออกมา  มี 2 วิธี  

   วิธีที่ 1จะใช้ไหมเย็บซ่อมรู หรือจุดอ่อน

   วิธีที่ 2 จะใช้แผ่นสารสังเคราะห์เย็บปิดรู หรือจุดอ่อน

 

ผลของการรักษา

       ขึ้นอยู่กับอาการที่มี ว่ามากน้อยเพียงใดและเกิดบ่อยครั้งแค่ไหน แพทย์จะช่วยตัดสินใจและเลือกวิธีการรักษา ว่าจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดหรือไม่

     การผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบ มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 200 ปี ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่ใช้ไหมเย็บซ่อมรู หรือจุดอ่อน ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ใช้ได้ดี และเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก     แต่มีข้อเสียคือ มีแรงดึงมากและโอกาสที่จะเกิดโรคเป็นซ้ำใหม่มีมาก

       ดังนั้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมานี้ ได้มีผู้นำเอาวิธีผ่าตัดรักษาโดยลดแรงดึงหลายวิธีเข้ามาใช้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้สารสังเคราะห์ชนิดพิเศษเพื่อเย็บซ่อม ทั้งในการผ่าตัดแบบเปิด และแบบใช้กล้อง พบว่าวิธีผ่าตัดรักษาโดยลดแรงดึง มีโอกาสที่จะเกิดโรคเป็นซ้ำใหม่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีเก่าที่ใช้ไหมเย็บเพียงอย่างเดียว

 

การปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัด

  • งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 - 8 ชม.
  • ทำความสะอาดร่างกายทั่วไปโดยเฉพาะบริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง
  • ถอดฟันปลอม, ของมีค่า, กางเกงในก่อนมาห้องผ่าตัด
  • เซ็นต์ใบยินยอมให้แพทย์ทำการผ่าตัด
  • ถ้ารับประทานยาห้ามการแข็งตัวของเลือดให้หยุดยาก่อนผ่าตัด 5 - 7 วัน ตามแผนการรักษาของแพทย์

 

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดและเมื่อกลับบ้าน

  • ควรระวังไม่ให้แผลเปียกชื้น จนกว่าจะตัดไหม ห้ามแกะ เกา ล้วงบริเวณแผล เพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ หรือเป็นหนอง
  • ขณะไอหรือจามให้ใช้ฝ่ามือ หรือผ้าหนานุ่มกดประคองแผลได้
  • หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ
  • ห้ามทำงานหนัก หรือยกของหนัก อย่างน้อย 2 เดือน
  • ดูและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ถ้าเป็นหวัด เจ็บคอ หรือไอจามบ่อยๆ ควรรีบพบแพทย์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ รวมทั้งผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้ท้องผูก
  • ควรใส่กางเกงในที่กระชับ หรือสปอร์ตเตอร์สำหรับนักกีฬา เพื่อช่วยประคองแผล ลดความเจ็บปวด
  • ถ้ามีอาการปวดแผลมาก ควรรับประทานยาบรรเทาปวดตามแพทย์สั่ง
  • ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น มีไส้เลื่อนเกิดซ้ำ แผลแยกหรือบวม แผลมีน้ำเหลืองซึม มีไข้ ปวดท้อง ให้รีบมาพบแพทย์