เกิดข้อผิดพลาด
  • เทมเพลตที่ใช้แสดงผลในส่วนนี้ไม่สมบูรณ์กรุณาติดต่อผู้ดูแล

Home

การผ่าตัดเนื้องอกในสมอง

 

เนื้องอกในสมอง

หมายถึง เนื้องอกที่เกิดขึ้นจากเนื้อสมองรวมถึงเนื้องอกของเส้นประสาทสมอง เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง เนื้องอกของต่อมใต้สมอง เนื้องอกของบริเวณฐานกะโหลก ที่ลุกลามเข้าไปที่สมอง และมะเร็งของอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมาที่สมอง

 

เนื้องอกสมอง แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ

  1. เนื้องอกของตัวสมองเอง
  2. เนื้องอกของอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ลุกลามมาที่สมอง เช่น เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง เนื้องอกของเส้นประสาทต่าง ๆ เนื้องอกที่ปอดและเนื้องอกที่เต้านม เป็นต้น

 

 อาการเป็นอย่างไร

  • ขึ้นอยู่ว่าเนื้องอกอยู่ตำแหน่งใด แต่ส่วนมาก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน  และอยู่ๆก็มีอาการชัก  ซึ่งไม่เคยชักมาก่อน
  • ถ้าเนื้องอกสมองไปกดส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อแขนขา อาจทำให้มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา
  • ถ้าไปกดทำลายส่วนที่ควบคุมการพูดคุย ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการเขียน อ่าน หรือ การพูดคุย
  • ถ้าไปทำลายการทรงตัว ผู้ป่วยจะมีอาการเดินเซ  พบมากในผู้ป่วยเด็ก หรือถ้าไปกดเบียดเส้นประสาทตาจะมีอาการตามัว

 

รักษาอย่างไร                                      
       1.  การผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก
       2. การฉายรังสี
       3. การให้ยาเคมีบำบัด
    ผู้ป่วยแต่ละรายอาจจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง  หรือใช้ทั้ง 3 วิธีร่วมกัน  ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเนื้องอกชนิดใด

 

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อได้รับการผ่าตัด

  • หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ท่านจำเป็นต้องให้แพทย์ผู้ทำการรักษาควบคุมภาวะดังกล่าวให้ดี ก่อนเข้ารับการรักษา
  • หยุดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด และเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยาแก้อักเสบทุกชนิด โดยต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาลทราบก่อนวันผ่าตัด
  • ควรหยุดสูบบุหรี่ หรือสูบให้น้อยที่สุด ก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 4 สัปดาห์
  • ขอความร่วมมือจากญาติ ในการบริจาคเลือด เพื่อเตรียมไว้ใช้ในการผ่าตัด
  • ไม่ควรนำของมีค่ามาโรงพยาบาลเพราะ อาจสูญหายได้ และถอดเครื่องประดับทุกชนิดที่เป็นโลหะ ก่อนเข้าห้องผ่าตัด
  • ถอดฟันปลอมฝากญาติไว้ ถ้าฟันโยกต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย  เพราะฟันอาจหลุดตกเข้าไปในหลอดลม ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • งดน้ำงดอาหารก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 6-8 ชม. เพื่อป้องกันการสำลักอาหาร ยกเว้น กรณีฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันที
  • เตรียมผิวหนังโดยการโกนผม
  • ผู้ป่วยจะได้รับสารน้ำทางเส้นเลือดดำ  และคาสายสวนปัสสาวะ

 

 

หลังผ่าตัด    

  • ผู้ป่วยอาจคาท่อช่วยหายใจไว้สักระยะหนึ่ง จนกว่าแพทย์พิจารณาว่าปลอดภัย จึงจะถอดท่อช่วยหายใจและผู้ป่วยหายใจได้ด้วยตนเอง
  • ผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดทีศีรษะและมีท่อระบาย ควรระวังไม่ให้ท่อระบายเลื่อนหลุด
  • ผู้ป่วยบางราย อาจเอากะโหลกบางส่วนออกชั่วคราว จึงต้องระมัดระวังไม่ให้มีการกดทับบริเวณนั้น

 

วิธีการดูแลตนเองของผู้ป่วย

  • ผู้ป่วยควรจะเข้ารับการรักษาตามที่แพทย์กำหนดไว้
  • ผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษาให้ครบทุกขึ้นตอน เพราะหลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องทำกายภาพบำบัดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูความสามารถที่สูญเสียไปให้ฟื้นตัวกลับมาเร็วขึ้น
  • แพทย์อาจจะนัดมาตรวจเป็นระยะ ๆ เพราะเนื้องอกบางอย่างที่ผ่าตัดไปแล้ว มีโอกาสที่จะงอกออกมาใหม่ได้อีก

 

วิธีการป้องกันโรค  

เนื้องอกสมองส่วนใหญ่ ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน จึงยังไม่มีวิธีการป้องกัน แต่อย่างไรก็ตามมีเนื้องอกสมองบางชนิดที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น ๆ มาที่สมอง เช่น มะเร็งปอดที่พบว่ากระจายมาที่สมอง จึงควรลดความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น งดสูบบุหรี่  จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้น้อยลง

 

สรุป

เนื้องอกสมองบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือช่วยเหลือตนเองได้น้อย จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลจากครอบครัวในการสนับสนุนด้านกำลังใจ ด้านการดูแลสุขภาพ เช่น การพาผู้ป่วยไปตรวจตามแพทย์นัด หรือการพาผู้ป่วยไปทำกายภาพบำบัด  การสนับสนุนของครอบครัวจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น กลับมาเป็นปกติได้ดังเดิม