- รายละเอียด
-
หมวด: Uncategorised
-
เผยแพร่เมื่อ: วันอังคาร, 17 ธันวาคม 2562 11:37
-
เขียนโดย Super User
-
ฮิต: 3992
เนื้องอกในสมอง
หมายถึง เนื้องอกที่เกิดขึ้นจากเนื้อสมองรวมถึงเนื้องอกของเส้นประสาทสมอง เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง เนื้องอกของต่อมใต้สมอง เนื้องอกของบริเวณฐานกะโหลก ที่ลุกลามเข้าไปที่สมอง และมะเร็งของอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมาที่สมอง
เนื้องอกสมอง แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
- เนื้องอกของตัวสมองเอง
- เนื้องอกของอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ลุกลามมาที่สมอง เช่น เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง เนื้องอกของเส้นประสาทต่าง ๆ เนื้องอกที่ปอดและเนื้องอกที่เต้านม เป็นต้น
อาการเป็นอย่างไร
- ขึ้นอยู่ว่าเนื้องอกอยู่ตำแหน่งใด แต่ส่วนมาก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน และอยู่ๆก็มีอาการชัก ซึ่งไม่เคยชักมาก่อน
- ถ้าเนื้องอกสมองไปกดส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อแขนขา อาจทำให้มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา
- ถ้าไปกดทำลายส่วนที่ควบคุมการพูดคุย ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการเขียน อ่าน หรือ การพูดคุย
- ถ้าไปทำลายการทรงตัว ผู้ป่วยจะมีอาการเดินเซ พบมากในผู้ป่วยเด็ก หรือถ้าไปกดเบียดเส้นประสาทตาจะมีอาการตามัว
รักษาอย่างไร
1. การผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก
2. การฉายรังสี
3. การให้ยาเคมีบำบัด
ผู้ป่วยแต่ละรายอาจจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือใช้ทั้ง 3 วิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเนื้องอกชนิดใด
เตรียมตัวอย่างไรเมื่อได้รับการผ่าตัด
- หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ท่านจำเป็นต้องให้แพทย์ผู้ทำการรักษาควบคุมภาวะดังกล่าวให้ดี ก่อนเข้ารับการรักษา
- หยุดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด และเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยาแก้อักเสบทุกชนิด โดยต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาลทราบก่อนวันผ่าตัด
- ควรหยุดสูบบุหรี่ หรือสูบให้น้อยที่สุด ก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 4 สัปดาห์
- ขอความร่วมมือจากญาติ ในการบริจาคเลือด เพื่อเตรียมไว้ใช้ในการผ่าตัด
- ไม่ควรนำของมีค่ามาโรงพยาบาลเพราะ อาจสูญหายได้ และถอดเครื่องประดับทุกชนิดที่เป็นโลหะ ก่อนเข้าห้องผ่าตัด
- ถอดฟันปลอมฝากญาติไว้ ถ้าฟันโยกต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย เพราะฟันอาจหลุดตกเข้าไปในหลอดลม ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- งดน้ำงดอาหารก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 6-8 ชม. เพื่อป้องกันการสำลักอาหาร ยกเว้น กรณีฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันที
- เตรียมผิวหนังโดยการโกนผม
- ผู้ป่วยจะได้รับสารน้ำทางเส้นเลือดดำ และคาสายสวนปัสสาวะ
หลังผ่าตัด
- ผู้ป่วยอาจคาท่อช่วยหายใจไว้สักระยะหนึ่ง จนกว่าแพทย์พิจารณาว่าปลอดภัย จึงจะถอดท่อช่วยหายใจและผู้ป่วยหายใจได้ด้วยตนเอง
- ผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดทีศีรษะและมีท่อระบาย ควรระวังไม่ให้ท่อระบายเลื่อนหลุด
- ผู้ป่วยบางราย อาจเอากะโหลกบางส่วนออกชั่วคราว จึงต้องระมัดระวังไม่ให้มีการกดทับบริเวณนั้น
วิธีการดูแลตนเองของผู้ป่วย
- ผู้ป่วยควรจะเข้ารับการรักษาตามที่แพทย์กำหนดไว้
- ผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษาให้ครบทุกขึ้นตอน เพราะหลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องทำกายภาพบำบัดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูความสามารถที่สูญเสียไปให้ฟื้นตัวกลับมาเร็วขึ้น
- แพทย์อาจจะนัดมาตรวจเป็นระยะ ๆ เพราะเนื้องอกบางอย่างที่ผ่าตัดไปแล้ว มีโอกาสที่จะงอกออกมาใหม่ได้อีก
วิธีการป้องกันโรค
เนื้องอกสมองส่วนใหญ่ ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน จึงยังไม่มีวิธีการป้องกัน แต่อย่างไรก็ตามมีเนื้องอกสมองบางชนิดที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น ๆ มาที่สมอง เช่น มะเร็งปอดที่พบว่ากระจายมาที่สมอง จึงควรลดความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น งดสูบบุหรี่ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้น้อยลง
สรุป
เนื้องอกสมองบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือช่วยเหลือตนเองได้น้อย จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลจากครอบครัวในการสนับสนุนด้านกำลังใจ ด้านการดูแลสุขภาพ เช่น การพาผู้ป่วยไปตรวจตามแพทย์นัด หรือการพาผู้ป่วยไปทำกายภาพบำบัด การสนับสนุนของครอบครัวจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น กลับมาเป็นปกติได้ดังเดิม
- รายละเอียด
-
หมวด: Uncategorised
-
เผยแพร่เมื่อ: วันอังคาร, 17 ธันวาคม 2562 11:33
-
เขียนโดย Super User
-
ฮิต: 4666
ภาวะช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของศีรษะทารก (Cephalopelvic disproportion : CPD) หมายถึง มีความแตกต่างของขนาดศีรษะทารก และอุ้งเชิงกราน ซึ่งทำให้ทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ หรือ อาจเกิดจากการที่ทารก มีการบิด หรือ เงยทำให้เส้นผ่าศูนย์กลางของศีรษะใหญ่เกินกว่าจะผ่านช่องเชิงกรานลงมาได้
อาการและอาการแสดง
โดยการตรวจภายใน ในช่วงเจ็บครรภ์คลอด พบว่าศีรษะของทารกไม่เคลื่อนต่ำลงมา หรือ ปากมดลูกไม่มีการเปิดเพิ่มขึ้น มดลูกหดรัดตัวบ่อยและแรง เพื่อผลักดันให้ทารกเคลื่อนต่ำ แต่ทารกไม่สามารถเคลื่อนต่ำได้ จึงทำให้ส่วนนำมาอัดแน่นในช่องเชิงกราน ดังนั้นเมื่อมดลูกหดรัดตัวบ่อย ส่วนบนของมดลูกจะดึงรั้งให้มดลูกส่วนล่างขยายและบางลง ซึ่งสามารถมองเห็นรอยคอดตามขวางของหน้าท้อง และอยู่ต่ำกว่าระดับสะดือเล็กน้อย ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้มดลูกแตก
การรักษา
การผ่าตัดทำคลอด (Cesarean section) หมายถึง การผ่าตัดเพื่อคลอดทารกผ่านรอยผ่าที่หน้าท้อง และรอยผ่าที่ผนังมดลูก ในช่วงอายุครรภ์ที่ทารกสามารถมีชีวิตรอดได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว แพทย์จะผ่าท้องทำคลอดก็ต่อเมื่อมีเหตุผลทางการแพทย์ โดยพิจารณาในรายที่ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้เอง หรือ คลอดได้ แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมารดา หรือ ทารก การผ่าตัดทำคลอดแบ่งเป็น 2 ชนิด
- การผ่าตัดคลอดแบบดั้งเดิม (classical Caesarean section) เป็นการผ่าตามแนวตั้งตรงกลางของมดลูก ซึ่งให้พื้นที่กว้างในการทำคลอดทารก แต่ในปัจจุบันไม่นิยมเพราะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่า
- การผ่าตัดคลอดชนิดตัดส่วนล่างของมดลูก (lower uterine segment section) เป็นการผ่าตัดที่นิยมทำในปัจจุบัน เป็นการตัดในแนวขวางเหนือขอบของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งช่วยให้เสียเลือดน้อยกว่า และเย็บซ่อมได้ง่ายกว่า
โดยขนาดของแผลยาวประมาณ 4-5 นิ้ว และใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง
วิธีการให้ยาระงับความรู้สึก
ในการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง มี 2 วิธี
- การให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป : ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวขณะผ่าตัด
- การใช้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง (Spinal block) : ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวขณะผ่าตัด แต่จะชาตั้งแต่เอวถึงปลายเท้า ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ ปวดศีรษะ ปวดหลัง
สิ่งที่ผู้ผ่าตัดคลอดจะได้รับก่อนผ่าตัด
- ผู้ผ่าตัดคลอดลงนามยินยอมเข้ารับการผ่าตัด
- ต้องงดอาหาร และน้ำทางปากอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ยกเว้นในกรณีผ่าตัดฉุกเฉิน
- ได้รับการทำความสะอาดและโกนขนบริเวณสะดือและท้องน้อย ตำแหน่งที่จะลงแผลผ่าตัด
- ได้รับสารละลายทางหลอดเลือดดำ
- ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะ เพื่อไม่ให้กระเพาะปัสสาวะโป่งพอง ขัดขวางการหดรัดตัวของมดลูก และป้องกันอันตรายต่อกระเพาะปัสสาวะขณะผ่าตัด ส่วนการสวนอุจจาระจะทำให้ทวารหนักและลำไส้ใหญ่ไม่มี / มีอุจจาระน้อยที่สุด ยกเว้นรายที่มีข้อห้าม
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
- งดน้ำและอาหารหลังผ่าตัด 12 - 24 ชั่วโมงแรก ในวันถัดมาสามารถดื่มน้ำ รับประทานอาหารเหลวและอาหารอ่อนได้ตามลำดับ
- ถ้าปวดมาก สามารถขอยาแก้ปวดได้
- สายสวนปัสสาวะจะเอาออกหลังผ่าตัด 12 -24 ชั่วโมงแรก
- กระตุ้นให้ทารกดูดนมได้ในวันแรกหลังผ่าตัด เพื่อช่วยให้น้ำนมมาเร็วขึ้น และยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก
- ควรลุกนั่ง ลุกเดินใกล้ๆ เพราะการเปลี่ยนอิริยาบถได้เร็ว จะช่วยให้ลำไส้ทำงานได้เร็ว ท้องไม่อืด ลดการเกิดพังผืดในช่องท้อง และป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน
- ดูแลแผลผ่าตัดไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ ถ้าแผลผ่าตัดแห้งดี สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ หากเย็บแผลด้วยไหมละลายไม่ต้องตัดไหม แต่ถ้าเย็บด้วยไหมธรรมดาต้องตัดไหมเมื่อครบ 7 วัน ที่โรงพยาบาล / สถานีอนามัยใกล้บ้าน
- ทำความสะอาดร่างกาย และอวัยวะสืบพันธุ์หลังจากการขับถ่ายทุกครั้ง โดยล้างจากด้านหน้าไปด้านหลัง และเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3-4 ชั่วโมง
- รับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ เน้น โปรตีนและธาตุเหล็ก เช่น เนื้อ นม ไข่ ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ งดอาหารหมักดอง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหม และงดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 6 สัปดาห์
- ควรให้บุตรดูดนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน
- ควรกลับมาพบแพทย์ ถ้ามีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ มีไข้ มีน้ำหรือเลือดออกจากแผลผ่าตัด ปวดแผลมากขึ้น แผลบวมแดง มีหนองหรือน้ำคาวปลาออกปริมาณมากขึ้น เป็นสีแดงตลอด สีไม่จางลงหรือนานกว่า 2 สัปดาห์ น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น หลังคลอด 2 สัปดาห์แล้วยังคลำมดลูกได้ทางหน้าท้อง เต้านมอักเสบ กดเจ็บ แดง ถ่ายปัสสาวะบ่อย แสบ
- รายละเอียด
-
หมวด: Uncategorised
-
เผยแพร่เมื่อ: วันอังคาร, 17 ธันวาคม 2562 11:08
-
เขียนโดย Super User
-
ฮิต: 2327
สาเหตุของโรค
- รูปร่างท่าทางไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น คนอ้วนลงพุงการหมุนบิดตัวขณะก้มยกของ
- หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม
- หมอนรองกระดูกสันหลังโป่งนูน
- ความเสื่อมของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นที่หุ้มกระดูกสันหลัง
อาการของโรค
- อาการปวดตามเส้นประสาท มักปวดสะโพกร้าวลงทางด้านหลังต้นน่องถึงปลายเท้า
- อาการมึนหรือชาบริเวณขา เหมือนเป็นเหน็บชา
- อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ
- ในรายที่มีอาการมาก อาจเกิดปัญหาของระบบขับถ่าย เช่น ปัสสาวะไม่ออก กลั้นอุจาระไม่ได้
การรักษา
- การรักษาด้วยการรับประทานยา
- การรักษาโดยการทำกายภาพบำบัด
- การรักษาโดยการฉีดยาระงับการอักเสบที่เส้นประสาท
- การรักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดกระดูกสันหลังตีบรัดเส้นประสาท
เป็นการผ่าตัดเพื่อเอาส่วนที่ตีบรัดเส้นประสาท เช่นกระดูกและพังผืดตรงตำแหน่งที่ทำให้เกิดอาการปวดและชานั้นออก
การตรวจวินิจฉัย
- การฉีดสารทึบรังสีเข้าช่องไขสันหลัง
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- การตรวจด้วยสารกัมมันตภาพรังสี
ทั้งนี้แพทย์ที่ทำการรักษา จะเป็นผู้ให้คำแนะนำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยเฉพาะรายไป
ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่เดินเพียงระยะสั้น ๆ ประมาณ 50-100 เมตร แล้วปวดจนต้องหยุดพัก
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวดมากจนทนไม่ไหว ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ลำบาก
- ผู้ป่วยที่มีอาการชาและอ่อนแรงอย่างชัดเจนของขา
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาขับถ่ายผิดปกติ จากการกดทับเส้นประสาท
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดที่ถูกต้องจะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผ่าตัด
- ผู้ป่วยลงนามในใบยินยอมรับการผ่าตัด
- การทำความสะอาดร่างกาย งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน และได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ
- การตรวจเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเอกซเรย์ปอด
- การเตรียมเลือด 1-2 ยูนิต
- ถ้ารับประทานยาห้ามการแข็งตัวของเลือด หรือยาแอสไพรินต้องหยุดยาก่อนผ่าตัด 7 วันต้องแจ้งแพทย์ พยาบาลก่อนผ่าตัด
- พยาบาลที่หอผู้ป่วย จะใส่สายสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วยก่อนที่จะส่งมาห้องผ่าตัด
ท่านจะพบอะไรที่ห้องผ่าตัด
เมื่อถึงห้องผ่าตัด ผู้ป่วยจะหยุดรออยู่ที่จุดรอผ่าตัดประมาณ 30 นาที ซึ่งญาติ สามารถเข้ามาดูแล หรือให้กำลังใจท่านได้ไม่เกิน 2 คน โดยมีพยาบาลห้องผ่าตัดคอยดูแลท่านระหว่างรอผ่าตัด เมื่อใกล้เวลาผ่าตัด เจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัดจะนำท่านเข้าไปยังห้องผ่าตัด จากนั้นท่านจะได้รับการระงับความรู้สึกโดยดมยาสลบโดยทีมวิสัญญีแพทย์และพยาบาล
ท่านจะพบสิ่งใดบ้างหลังผ่าตัด
มีบาดแผลบริเวณบั้นเอวด้านหลัง มีสายระบายเลือดต่อจากแผลผ่าตัดซึ่งจะใส่ไว้ประมาณ 1-2 วัน และคาสายสวนปัสสาวะไว้ประมาณ 2-3 วันจนกว่าผู้ป่วยจะเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้
ควรจะปฏิบัติตนอย่างไรในวันแรกหลังผ่าตัด
ให้นอนราบทับแผลผ่าตัด หรือนอนตะแคงซ้าย/ขวา โดยพลิกลำตัวพร้อมกันทั้งตัว ไม่บิดหรือเอียงลำตัว การผ่าตัดที่ได้รับการดมยาสลบหลังผ่าตัดควรบริหารปอดโดยการสูดหายใจเข้าออกแรงๆ หรือเป่าลูกโป่งให้ปอดขยายตัว ป้องกันภาวะปอดแฟบ
ข้อปฏิบัติหลังการผ่าตัด
- ควรสวมอุปกรณ์พยุงเอวทุกครั้ง เมื่อลุกนั่ง ยืน เดิน อย่างน้อย 4-6 สัปดาห์
- ควรนั่งนานไม่เกินครั้งละ 45 นาที ในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
- ไม่ควรบิดหรือเอี้ยวตัวแรงๆ 6-8 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
- ไม่ขึ้นบันไดเกิน 2 ครั้งต่อวัน ภายใน 3 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
- ควรใช้ส้วมชักโครก หรือ เก้าอี้เจาะรูในการขับถ่าย
อิริยาบถต่างๆ เพื่อป้องกันอาการปวดหลังซ้ำ
ท่านอนหงาย : หนุนหมอนพอรู้สึกสบาย ใช้หมอนรองใต้เข่าทั้งสองข้าง ให้งอเข่าเล็กน้อย
ท่าลุกจากที่นอน : ควรลุกช้าๆ ค่อยๆ เลื่อนตัวชิดขอบเตียง และตะแคงตัว งอเข่าและสะโพก ใช้ฝ่ามือและศอกยันที่นอนดันตัวให้ลุกขึ้น พร้อมกับหย่อนเท้าลงแตะพื้น ขณะทำต้องให้หลังตรง
การลงนอน : ให้นั่งบนเตียง เอนตัวลงช้าๆ ใช้มือและข้อศอกยันกับพื้นเตียง ไหล่แตะพื้นเตียงซึ่งอยู่ในท่าตะแคง แล้วเปลี่ยนเป็นนอนหงาย
ท่านั่งเก้าอี้ : ควรใช้เก้าอี้พอดีกับตัวผู้นั่ง นั่งหลังตรงพิงพนักเก้าอี้เต็มที่ เท้าวางกับพื้นพอดี
การลุกจากที่นั่ง : โน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย ใช้มือยันพื้นเก้าอี้หรือพนักแขน ดันตัวขึ้นช้าๆ หลังตรง การนั่งลงให้ทำเช่นเดียวกัน โดยย้อนทางกับการลุก
การนั่งกับพื้น : ไม่ควรนั่งพับเพียบ เพราะเป็นท่าที่ร่างกายอยู่ในภาวะเสียสมดุลมาก เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ควรขยับเปลี่ยนท่าบ่อยๆ และนั่งหลังตรงจะช่วยให้กล้ามเนื้อได้สมดุล ท่านั่งขัดสมาธิจะมีภาวะสมดุลต่อหลัง และท่านั่งยองๆ ช่วยผ่อนคลายอาการปวดหลัง
ท่ายืน : ต้องหลังตรง เก็บคางแขม่วท้อง หย่อนก้น ให้ยืนหย่อนขาเล็กน้อย ไม่ควรยืนนานเกิน 30 นาที
การเดิน : เดินตัวตรง ก้าวขาด้วยความมั่นคง แกว่งแขนเล็กน้อย สวมรองเท้าสบายๆ ไม่สวมรองเท้าส้นสูง
การยกของจากพื้น : ย่อเข่าให้หลังตรงเสมอแล้วหยิบของ แล้วค่อยๆ เหยียดข้อเข่าและสะโพกขึ้นมาในลักษณะหลังตรง ถือของให้ชิดลำตัวเพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อหลัง
การหิ้วของ : ถ้าของหนักมากควรแบ่งเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน และหิ้วสองมือ
ท่าบริหารร่างกายเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ