เกิดข้อผิดพลาด
  • เทมเพลตที่ใช้แสดงผลในส่วนนี้ไม่สมบูรณ์กรุณาติดต่อผู้ดูแล

Home

การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องที่มีภาวะช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของศีรษะทารก

 

ภาวะช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของศีรษะทารก (Cephalopelvic disproportion : CPD) หมายถึง มีความแตกต่างของขนาดศีรษะทารก และอุ้งเชิงกราน ซึ่งทำให้ทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ หรือ อาจเกิดจากการที่ทารก มีการบิด หรือ เงยทำให้เส้นผ่าศูนย์กลางของศีรษะใหญ่เกินกว่าจะผ่านช่องเชิงกรานลงมาได้

 

อาการและอาการแสดง

โดยการตรวจภายใน ในช่วงเจ็บครรภ์คลอด พบว่าศีรษะของทารกไม่เคลื่อนต่ำลงมา หรือ ปากมดลูกไม่มีการเปิดเพิ่มขึ้น มดลูกหดรัดตัวบ่อยและแรง เพื่อผลักดันให้ทารกเคลื่อนต่ำ   แต่ทารกไม่สามารถเคลื่อนต่ำได้ จึงทำให้ส่วนนำมาอัดแน่นในช่องเชิงกราน ดังนั้นเมื่อมดลูกหดรัดตัวบ่อย  ส่วนบนของมดลูกจะดึงรั้งให้มดลูกส่วนล่างขยายและบางลง   ซึ่งสามารถมองเห็นรอยคอดตามขวางของหน้าท้อง และอยู่ต่ำกว่าระดับสะดือเล็กน้อย ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้มดลูกแตก

  

การรักษา

การผ่าตัดทำคลอด (Cesarean section) หมายถึง การผ่าตัดเพื่อคลอดทารกผ่านรอยผ่าที่หน้าท้อง และรอยผ่าที่ผนังมดลูก ในช่วงอายุครรภ์ที่ทารกสามารถมีชีวิตรอดได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว  แพทย์จะผ่าท้องทำคลอดก็ต่อเมื่อมีเหตุผลทางการแพทย์ โดยพิจารณาในรายที่ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้เอง หรือ คลอดได้ แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมารดา หรือ ทารก การผ่าตัดทำคลอดแบ่งเป็น 2 ชนิด

  1. การผ่าตัดคลอดแบบดั้งเดิม (classical Caesarean section) เป็นการผ่าตามแนวตั้งตรงกลางของมดลูก ซึ่งให้พื้นที่กว้างในการทำคลอดทารก แต่ในปัจจุบันไม่นิยมเพราะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่า
  2. การผ่าตัดคลอดชนิดตัดส่วนล่างของมดลูก (lower uterine segment section) เป็นการผ่าตัดที่นิยมทำในปัจจุบัน เป็นการตัดในแนวขวางเหนือขอบของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งช่วยให้เสียเลือดน้อยกว่า และเย็บซ่อมได้ง่ายกว่า

โดยขนาดของแผลยาวประมาณ 4-5 นิ้ว และใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง

 

 

วิธีการให้ยาระงับความรู้สึก

 ในการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง มี 2 วิธี

  1. การให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป : ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวขณะผ่าตัด
  2. การใช้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง (Spinal block) : ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวขณะผ่าตัด แต่จะชาตั้งแต่เอวถึงปลายเท้า ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ ปวดศีรษะ ปวดหลัง

  

สิ่งที่ผู้ผ่าตัดคลอดจะได้รับก่อนผ่าตัด

  1. ผู้ผ่าตัดคลอดลงนามยินยอมเข้ารับการผ่าตัด
  2. ต้องงดอาหาร และน้ำทางปากอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ยกเว้นในกรณีผ่าตัดฉุกเฉิน
  3. ได้รับการทำความสะอาดและโกนขนบริเวณสะดือและท้องน้อย ตำแหน่งที่จะลงแผลผ่าตัด
  4. ได้รับสารละลายทางหลอดเลือดดำ
  5. ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะ เพื่อไม่ให้กระเพาะปัสสาวะโป่งพอง ขัดขวางการหดรัดตัวของมดลูก และป้องกันอันตรายต่อกระเพาะปัสสาวะขณะผ่าตัด ส่วนการสวนอุจจาระจะทำให้ทวารหนักและลำไส้ใหญ่ไม่มี / มีอุจจาระน้อยที่สุด  ยกเว้นรายที่มีข้อห้าม

 

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

  1. งดน้ำและอาหารหลังผ่าตัด  12 - 24 ชั่วโมงแรก ในวันถัดมาสามารถดื่มน้ำ รับประทานอาหารเหลวและอาหารอ่อนได้ตามลำดับ
  2. ถ้าปวดมาก สามารถขอยาแก้ปวดได้
  3. สายสวนปัสสาวะจะเอาออกหลังผ่าตัด 12 -24 ชั่วโมงแรก
  4.  กระตุ้นให้ทารกดูดนมได้ในวันแรกหลังผ่าตัด เพื่อช่วยให้น้ำนมมาเร็วขึ้น และยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก
  5. ควรลุกนั่ง ลุกเดินใกล้ๆ เพราะการเปลี่ยนอิริยาบถได้เร็ว จะช่วยให้ลำไส้ทำงานได้เร็ว ท้องไม่อืด ลดการเกิดพังผืดในช่องท้อง และป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

 

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน

  1. ดูแลแผลผ่าตัดไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ ถ้าแผลผ่าตัดแห้งดี  สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ หากเย็บแผลด้วยไหมละลายไม่ต้องตัดไหม  แต่ถ้าเย็บด้วยไหมธรรมดาต้องตัดไหมเมื่อครบ  7 วัน ที่โรงพยาบาล / สถานีอนามัยใกล้บ้าน
  2. ทำความสะอาดร่างกาย และอวัยวะสืบพันธุ์หลังจากการขับถ่ายทุกครั้ง โดยล้างจากด้านหน้าไปด้านหลัง และเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3-4 ชั่วโมง
  3. รับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ เน้น โปรตีนและธาตุเหล็ก เช่น เนื้อ นม ไข่ ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ งดอาหารหมักดอง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหม และงดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 6 สัปดาห์
  5. ควรให้บุตรดูดนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน
  6. ควรกลับมาพบแพทย์ ถ้ามีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้  มีไข้ มีน้ำหรือเลือดออกจากแผลผ่าตัด ปวดแผลมากขึ้น แผลบวมแดง มีหนองหรือน้ำคาวปลาออกปริมาณมากขึ้น เป็นสีแดงตลอด  สีไม่จางลงหรือนานกว่า 2 สัปดาห์ น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น หลังคลอด 2 สัปดาห์แล้วยังคลำมดลูกได้ทางหน้าท้อง เต้านมอักเสบ กดเจ็บ แดง  ถ่ายปัสสาวะบ่อย แสบ