โรงพยาบาลลำปาง

          โรงพยาบาลลำปาง เป็นโรงพยาบาลระดับ A  ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่เลขที่ 280 ถนนพหลโยธิน ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 52000  บนพื้นที่ประมาณ 68 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา  เป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดเตียง 800 เตียง ดูแลประชากรภายในจังหวัดลำปาง และรับส่งต่อผู้ป่วยในจังหวัดเขตล้านนา 2 (จังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน) ให้การบริการรักษาพยาบาล ได้แก่ งานบริการผู้ป่วยนอก (OPD) งานบริการผู้ป่วยใน (IPD) งานบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุแลฉุกเฉิน (ER) และมีแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางครอบคลุมทุกสาขาและเป็น ศูนย์ความ เป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent center)  4 สาขา  ได้แก่          

  • สาขาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • สาขาอุบัติเหตุและการแพทย์ฉุกเฉิน
  • สาขามะเร็ง
  • สาขาทารกแรกเกิด

ประวัติความเป็นมา

                ในราวปี พ.ศ. 2460 ได้เริ่มมีการจัดกิจการสาธารณสุขขึ้น ในจังหวัดลำปาง เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาโรคให้แก่ราษฎรโดยมีสาธารณสุขจังหวัด 1 นาย ทำหน้าที่ป้องกันโรคระบาดและโรคติดต่อร้ายแรง และนายแพทย์ประจำจังหวัด 1 นาย ทำหน้าที่รักษาพยาบาลและขายยาตำราหลวง

                นายแพทย์ประจำจังหวัด คนแรกของทางราชการ คือ นายแพทย์รื่น หงสนันท์ คนที่สอง คือ นายแพทย์ขุน  สุขบทบริหาร คนที่สาม คือ นายแพทย์สมัย จิตระเวช  คนที่สี่ คือ นายแพทย์ขุนเวชวิสิฐ  คนที่ห้า นายแพทย์ศรีรัตน์ บุญเฉลียว มาประจำสุขศาลา จังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2479 ในตำแหน่ง นายแพทย์ผู้ช่วย กองสาธารณสุขท้องที่ กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย

                สถานที่ในการปฏิบัติงานให้บริการคนไข้ ชื่อทางราชการว่า  “โอสถศาลา”  มีลักษณะเป็นเรือนแถวไม้ 4 ห้อง ที่เช่าจากเอกชน เดือนละ 35 บาท ตั้งอยู่บนถนนรัษฎาภิเศก เป็นที่ทำงาน 2 ห้อง และที่พักแพทย์ 2 ห้อง นายแพทย์ผู้ป่วยกองสาธารณสุขท้องที่ กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย

โอสถศาลา

สุขศาลาจังหวัดลำปาง

สุขศาลาเทศบาลเมืองลำปาง

                ในปี พ.ศ.2473 ได้จัดสร้างอาคารรับใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากพ่อค้า ประชาชน ข้าราชการ ภายใต้การนำของนายแพทย์ขุนเวชวิสิฐ เรียกว่า “สุขศาลาจังหวัดลำปาง” ประกอบด้วยเรือนตรวจคนไข้ 1 หลัง เรือนคนไข้ 2 หลัง เรือนครัว 1 หลัง ตั้งอยู่ที่สี่แยกถนนราชวงค์ มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ในที่ดินของราชพัสดุ ซึ่งเดิมเป็นที่ของเรือนจำ จังหวัดลำปางจนถึงปี พ.ศ.2479 อันเป็นปีที่เริ่มมีการผ่าตัดครั้งแรก คือ ผ่าตัดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และไส้ติ่งอักเสบ ขณะนั้นมีแพทย์ประจำสุขศาลา 1 คน นางพยาบาล 1 คน พยาบาลชาย 2 คน และคนงาน 2 คน มีเตียงรับคนไข้ 25 เตียง และได้มีการปรับปรุงเรื่อยมาจนมีเครื่องเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยครั้งแรกในปี พ.ศ.2482 ซึ่งเป็นปีที่กิจการของสุขาภิบาลจังหวัดลำปางถูกโอนไปขึ้นกับสำนักเทศบาลเมืองลำปาง และถูกเปลี่ยนชื่อจากสุขศาลาจังหวัดลำปางเป็น “สุขศาลาเทศบาลเมืองลำปาง”

                ในปี พ.ศ. 2482 คณะเทศมนตรีเทศบาลเมืองลำปาง ซึ่งมีขุนมลารักษ์ระบิล เป็นนายกเทศมนตรี ได้มีมติให้จัดหาที่ใหม่เพื่อย้ายสุขศาลาเทศบาลเมืองลำปาง เนื่องจากสถานที่ตั้งเดิมมีเนื้อที่คับแคบเพียง 2 ไร่ ไม่สามารถขยับขยายเพิ่มเติมอาคารเพื่อรองรับคนไข้ที่มากขึ้นได้ จึงได้ตกลงซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่ยังมีสภาพเป็นนาและป่าละเมาะ จำนวน 80 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ที่ตั้งของโรงพยาบาลลำปางในปัจจุบันนี้ พร้อมกับได้จัดสร้างอาคารต่าง ๆ ขึ้นโดยเงินงบประมาณของเทศบาลเมืองลำปาง คือ ตึกอำนวยการ เป็นตึกคอนกรีต 2 ชั้น กว้าง 12.50 เมตร ยาว 41 เมตร โรงครัว 1 หลัง  เรือนพักศพ 1 หลัง และเปิดให้บริการแก่ประชาชน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีนายแพทย์ 1 คน นางพยาบาล 4 คน พยาบาลชาย 2 คน และคนงาน 3 คน

โรงพยาบาลเมืองลำปาง

                ในปี พ.ศ. 2493 เทศบาลเมืองลำปาง ซึ่งมีขุนอุทานคดีเป็นนายกเทศมนตรี ได้โอนกิจการของโรงพยาบาลเทศบาลเมืองลำปางให้กรมแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการและเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลเมืองลำปาง ส่วนที่ดินยังคงเป็นสิทธิของเทศบาลเมืองลำปาง จากความร่วมมือร่วมใจของชาวลำปางได้มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมและมีบุคลากรเพิ่มมากขึ้น จนถึงปี 2509 บุคลากรทั้งสิ้น 179 คน แพทย์ 12 คน ทันตแพทย์ 2 คน เภสัชกร 3 คน พยาบาล 45 คน เจ้าหน้าที่อื่นๆ 117 คน เตียงรับผู้ป่วย 225-250 เตียง มีอาคารตรวจรักษาผู้ป่วย 6 หลัง อาคารผ่าตัด 1 หลัง อาคารแผนกรังสีวิทยา 1 หลัง อาคารชันสูตรโรค 1 หลัง ที่ทำงานธุรการ 1 หลัง บ้านพักแพทย์ 7 หลัง บ้านพักพยาบาล 3 หลัง โรงครัว 2 หลัง อาคารชันสูตรศพ 1 หลัง เรือนคนไข้เสพติด 1 หลัง เรือคนไข้โรคติดต่อ 1 หลัง รวมกับอาคารอื่นๆทั้งหมด 32 หลัง และเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับโรงพยาบาลจังหวัดอื่นๆ ในเวลาต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเมืองลำปาง เป็น “โรงพยาบาลลำปาง”

โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง

               ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้มีการสร้างและยกฐานะโรงพยาบาลจังหวัดขึ้นเป็นโรงพยาบาลศูนย์ รวม 15 แห่ง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520 – 2524 โรงพยาบาลลำปางจึงได้รับการปรับเป็น “โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง” รับผิดชอบเขต 5 ภาคเหนือตอนบน ในตอนนั้นมีจังหวัดในเครือข่ายรวม 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ และน่าน โรงพยาบาลจึงได้รับการสนับสนุนด้านอาคาร ครุภัณฑ์และอัตรากำลัง และได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

Copyright © 2023 Lampang Hospital All rights reserved